วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

10 ข้อควรระวังสำหรับคุณพ่อ คณแม่ในการเลี้ยงลูก

1. อย่าทะเลาะต่อหน้าลูก
   
   คุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยกัน ก็มีบ้างเป็นธรรมดาที่จะต้องทะเลาะกัน แต่การทะเลาะกันของคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายพึงกระทำในที่ลับตาลูกๆจะเป็นการดี เพราะการที่ลูกของคุณเห็นการทะเลาะกันต่อหน้าเขา เขาอาจเกิดความรู้สึกอึดอัด สับสน เกิดความทุกข์หรือความไม่เข้าใจพ่อแม่ก็ได้ ลูกๆไม่รู้ว่าจะเข้าข้างใครดี เพราะทั้งคู่คือ พ่อแม่ของเขาสถานการณ์แบบนี้นานๆเกิดขึ้นสักครั้งก็คงไม่เป็นไร แต่หากเกิดบ่อยครั้งหรือสม่ำเสมอ ลูกๆอาจเข้าใจว่าพ่อแม่นั้นไม่รักกัน แต่ทนอยู่ด้วยกัน
  
     2.  อย่าคาดหวังในตัวลูกมากเกินไป
     
 พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกได้ดี มีอนาคตสวยหรู มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีในอนาคต ฉะนั้นจึงได้พยายามตั้งเป้าหมาย หรือคาดหวังว่าลูกจะต้องทำข้อสอบให้ได้มากที่สุด เพื่อหวังว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ หรือเพื่อจะได้เข้าศึกษาต่อในคณะนั้นคณะนี้ การคาดหวังดังกล่าว หากเด็กไม่มีความพร้อม ไม่มีศักยภาพเพียงพอ เด็กก็ทำไม่ได้เมื่อเขาทำไม่ได้คุณพ่อคุณแม่รวมทั้งลูกก็ต้องมานั่งเสียใจ แต่หากเด็กทำได้ตามที่คาดหวังทุกคนก็ Happy
 
    3. อย่าลืมวางแผนชีวิตให้แก่ลูก
  
 ชีวิตลูก เมื่อเราให้กำเนิดเขามาแล้ว เราคงไม่ปล่อยให้วิถีชีวิตของเขาลอยไปอย่างไร้จุดหมายปลายทาง เราควรมีการวางแผนชีวิตในอนาคตแก่ลูกไว้ล่วงหน้าด้วย เช่น หากเขาเรียนไม่จบมัธยมศึกษาตอนปลายเราจะทำอย่างไร หากเขา Entrance เข้ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่ได้เราจะทำอย่างไร หากเขาบอกกับเราว่า เขาไม่อยากเรียนหนังสือเราจะทำอย่างไร ตัวอย่างเหล่านี้คงต้องเตรียมแผน หรือวางแผนชีวิตให้เขาเดินใหม่เราคงไม่ปล่อยให้เขาคิดเอง เพราะเขาอาจมีโลกทัศน์ที่แคบๆขืนให้เขาคิดเองเราอาจรู้สึกลำบากใจก็ได้ เช่น เขาบอกว่าเขาอยากไปเป็นหมอนวด หรือเป็นพวกเอสคอร์ดเซอร์แล้วคุณจะทำอย่างไร ฉะนั้นเราควรคิดหาทางให้เขาไว้ เช่น สร้างงานอิสระเป็นพ่อค้าแม่ค้า ( ค้าในสิ่งที่ถูกกฎหมาย ) เป็นนักกีฬาหรือเป็นนักดนตรีเป็นต้น

     4. 
อย่าเร่งลูกก่อนวัยอันควร

      เด็กจะมีความสุขตามประสาเด็กตามวัยของเขา เช่น วัยประถมศึกษาเป็นวัยที่เขามีความสุขกับการเล่น การวิ่งเล่น หากคุณไม่ให้เล่นหรือวิ่งเล่นก็อาจทำให้เขาขาดพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์และสังคมไป เราควรเลี้ยงเขาตามวัยของเขาไม่ใช่ให้อ่านแต่หนังสือ เรียนพิเศษจนกระทั่งไม่ได้วิ่งเล่น เป็นต้น
       5. อย่าให้ลูกเอาแต่เรียนอย่างเดียว
      การที่ลูกขยันเรียนนับว่าเป็นสิ่งดีเป็นความโชคดีของพ่อแม่เพราะไม่ต้องปากเปียกปากแฉะเรียกให้อ่านหนังสือทำการบ้าน เพราะกลัวสอบไม่ได้ หากลูกของคุณเป็นคนที่เรียนดีอยู่แล้ว แต่ก็ควรเสริมเขาเรื่องอื่นๆ เช่น กีฬา ดนตรี การเล่น การพักผ่อนในรูปแบบต่างๆ เพื่อเด็กจะได้เจริญเติบโตทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และจิตใจไปพร้อมๆกัน การที่เราให้ลูกเอาแต่เรียนพิเศษ จนไม่มีเวลาพักผ่อนตามวัยอย่างเพียงพออาจทำให้เขาขาดทักษะในการเข้าสังคม การทำงานกลุ่มหรือไม่มีมนุษยสัมพันธ์ กลายเป็นเด็กบ้าเรียนสมองโต แต่ขาดเพื่อน อย่างนี้คงไม่ดี
6. อย่าเคร่งครัดกับกฎระเบียบมากจนเกินไป 
    เด็กที่อยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียนหรือบ้านนับว่าเป็นสิ่งที่ดีเป็นเด็กน่ารัก แต่หากคุณตีกรอบให้เขามากเกินไป โดยไม่มีการยืดหยุ่น เด็กอาจรู้สึกอึดอัด สับสน เกิดความวิตกกังวล เกิดความทุกข์ เด็กอาจกลัวพ่อแม่จนเกินไป กลัวการถูกลงโทษต่างๆนานา หากคุณเคร่งครัดกับเขามากเกินไป เช่น กินเวลานั้น นอนเวลานั้น ในอนาคตเด็กอาจเป็นคนที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าแสดงออก เป็นต้น ฉะนั้นเราไม่ควรจะตึงจนเกินไป และในทางตรงข้ามเราก็ไม่ควรจะหย่อนยานจนเกินไป ควรพอดีๆ อะไรที่ตึงไปก็ไม่ดี หย่อนไปก็ไม่ดี พระพุทธเจ้าบอกว่าให้เป็นทางสายกลาง
    7. อย่าเอาแต่ใจตนเอง
    ในที่นี้หมายถึงพ่อแม่ไม่ควรเอาแต่ใจตนเอง ทำอะไรทุกอย่างไม่ใช่เพื่อลูกอย่างแท้จริง แต่กลับกลายเป็นเพื่อตนเองทั้งสิ้น เช่น บังคับให้ลูกเรียนโปรแกรมที่ตนเองสนใจ บังคับให้อ่านหนังสือ บังคับให้กินโน่นกินนี่ บังคับให้ทำโน่นทำนี่ หรืออะไรทำนองนี้ เป็นต้น ทำให้เด็กไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ชีวิตนี้จะอยู่ไม่ได้หากขาดพ่อแม่มาคอยบงการชีวิต หรือขีดเส้นให้เดินอย่าลืมว่าพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับลูกตลอดไป วันหนึ่งก็ต้องตายจากกันไป
    8. อย่ามัวแต่คิดว่าลูกคนอื่นดีกว่าลูกตัว
    บางครั้งเราอาจชื่นชมกับลูกของเพื่อนๆว่า ลูกเขาเก่ง ลูกเขาดีกว่าลูกเรา หากเราคิดไว้ในใจมันคงไม่เป็นไร แต่หากคุณได้พูดเช้าพูดเย็นพูดตลอดเวลาว่า “ สู้เขาก็ไม่ได้ “ “ทำไมไม่เอาอย่างเขา “” ทำไมเขาทำได้ ทำไมเราทำไม่ได้ “คำพูดทำนองนี้อย่าพูดเสียดีกว่า เพราะพูดไปก็ไม่ทำให้ลูกเราฉลาดขึ้น ดีขึ้น หรือเก่งขึ้น เราควรหาทางค่อยๆพูดให้เขาเข้าใจในเหตุและผลดีกว่าหรือพูดว่า แม่ว่าลูกน่าจะทำได้นะ ถ้าลูกพยายามอีกสักนิด ถ้าลูกดูหนังสือทบทวนมากกว่านี้ แม่ว่าคะแนนลูกน่าจะดีกว่านี้แน่นอน คำพูดลักษณะนี้จะทำให้ลูกมีกำลังใจมากขึ้นเป็นร้อยเท่า
    9. อย่าทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกเห็น
    พ่อแม่ทุกคนอยากทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก ถ้าโอกาสเอื้ออำนวย เพียงแต่บางครั้งอาจเผลอไปบ้าง เช่น ทิ้งบุหรี่บนถนน แซงคิวคนอื่นเพื่อซื้ออาหาร นำของหลวงไปใช้ที่บ้าน เป็นต้น ลูกอาจเกิดการเรียนรู้หรือเหมือนได้รับการขัดเกลาโดยทางอ้อม(Indirect Socialization) เลยทำตามโดยไม่รู้ตัว เพราะตัวอย่างที่ไม่ดีเหล่านี้เห็นมาตั้งนานแล้ว บางเรื่องอาจบอกได้ว่าเป็นนิสัยเสียแล้ว
    10. อย่าก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวของลูก
    เด็กๆทุกคนมีความต้องการเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง อยากมีโลกเป็นตัวของตัวเองอยากฟังเพลง อยากไปเที่ยวนอกบ้านกับเพื่อนๆบ้างเป็นต้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเข้าใจ และเปิดโอกาสให้เขาบ้างพอสมควร เมื่อถึงวัยอันควร วัยที่พอช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง เช่น อยู่มัธยมปลายแล้วการปล่อยให้ลูกเป็นอิสระนั้น ในที่นี้หมายถึงต้องอยู่ในสายตาของพ่อแม่ พ่อแม่ต้องคอยสอดส่องดูแล พ่อแม่ต้องรับรู้ว่าขณะนี้เขาอยู่ที่ไหน ทำอะไร ไปกับใคร เป็นต้น คำว่า อิสระ ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่ต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาเลย ไม่ใช่อย่างนั้น หากเป็นอย่างนั้นจริงๆลูกก็มีโอกาสเสียคน

    ข้อควรระวังดังกล่าวสิบประการนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องธรรมดามากที่ใครๆก็คิดใครๆก็ทำกันทั้งนั้น แต่หากพิจารณาถึงผลได้ผลเสียให้รอบคอบแล้วจะพบว่าหากเราหลีกเลี่ยงได้ก็คงจะเป็นการดี

ขอขอบคุณบทความดีๆนำมาจาก

งานแนะแนวและศูนย์เพื่อนเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒประสานมิตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น