คำถามนี้เกิดจากตัวผู้เขียนเองที่มักได้รับประสบการณ์โดยตรง จากความคาดหวังของพ่อแม่ที่คอยปั่นป่วนจิตใจลูกตลอดเวลา คำตอบคงไม่มีอะไรเฉลย ผุ้เขียนขอยกเอาบทความดีๆ ของท่านว.วิชรเมธี จาก http://www.oknation.net/blog/ เมื่อวันที่ 24 มค. 53 มาอ่านให้เกิดข้อคิดดีๆกันค่ะ
ฟังหลักคิด 'ท่านว.วชิรเมธี ' เตือนสติพ่อแม่ เลี้ยงลูกให้เป็น
หากพูดถึง 'งานเลี้ยงลูก ' ถือเป็นงานใหญ่ และสำคัญที่สุดของคนเป็นพ่อแม่ เพราะถือเป็นงานสร้างโลก ผ่านการสร้างลูก ที่ต้องใช้ความละะเอียดอ่อน ละเมียดละไม และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากตัวเด็กมีความซับซ้อนมาก ดังนั้นวิธีการเลี้ยงลูกด้วยตัวเองจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด ในการเข้าใจถึงตัวตน และสิ่งที่ลูกต้องการ แต่จะมีสักกี่ครอบครัว ที่จะเลี้ยงลูกอย่างมีสติ และเข้าใจจริงๆ เพราะส่วนใหญ่จะเลี้ยงโดยคาดหวังให้ลูกเก่ง และทัดเทียมคนอื่น โดยไม่สนใจความรู้สึกของลูก โดยท่าน ว.วชิรเมธีได้ให้ทัศนะว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ มีความคาดหวังกับลูกสูงมาก จนบางครั้งเกิดเป็นความ "พลาดหวัง" เพราะถูกกดดันมากเกินไป ซึ่งบางครั้งไม่เพียงแต่อยากให้ลูกได้รับการศึกษาเท่านั้น แต่อยากให้ลูกเทียมหน้าเทียมตาคนอื่นด้วย เพราะหันไปทางนี้ก็เพื่อนพ่อ ทางนั้นก็เพื่อนแม่ ส่งผลให้ลูกต้องถูกใส่ความรู้เต็มไปหมด แต่ขาดทักษะความเป็นมนุษย์ในการใช้ชีวิต "การให้ลูกเรียนเยอะ ไม่ว่าจะว่ายน้ำ เปียโน ภาษาอังกฤษ กลับมาที่บ้านแล้วยังมีครูสอนศิลปะเสริมอีก ตัวอย่างการจัดการเรียนให้ลูกตรงนี้ เด็กจะเก่งทุกอย่าง แต่เก่งไม่จริงสักอย่าง ขณะเดียวกันจะมีอารมณ์แปรปรวนสูงมาก เช่น ถ้าทำการบ้านเสร็จไม่ทัน ตอนเช้าขึ้นรถกับแม่ไม่ทัน หรือหิวจัด เด็กก็จะกรี๊ด นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่พ่อแม่ไทยตามแก้อยู่ในเวลานี้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะศักยภาพของเด็กแต่ละคนไม่สามารถจะรับทุกเรื่องได้หมด ทางพระพุทธศาสนาได้บอกไว้ว่า จิตจะทำงานทีละเรื่อง ดังนั้นเมื่อถูกจัดให้เด็กคนหนึ่ง เรียนรู้เท่ากับเด็ก 5 คน แน่นอนว่า เด็กย่อมไม่มีความสุข กลายเป็นพ่อแม่รังแกฉันในที่สุด ดังนั้น พ่อแม่ควรเลิกให้ลูกเรียนพิเศษ และหันมาเรียนในระบบปกติ รวมทั้งเลิกยัดเยียดความคิดว่าลูกจะต้องทำอันนั้น อันนี้ ขอให้กลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เน้นความสุขของเด็กเป็นศูนย์กลาง" ในด้านความคาดหวังของพ่อแม่นั้น ท่านว.วชิรเมธี ให้หลักคิดว่า คนเรามีความหวังให้สูงได้ แต่จะต้องเรียนรู้ และพร้อมยอมรับที่จะอยู่กับความผิดหวังให้ได้ด้วย ดังนั้น ความหวังของพ่อแม่ สามารถจัดสภาพแวดล้อมให้ลูกเดินตามทางที่หวังได้ แต่ถ้าลูกไม่สมหวัง พ่อแม่ต้องรู้ว่า โลกนี้อยู่ 2 ด้าน คือ ชื่นชม และขมขื่น ซึ่งการเลี้ยงลูกของมารดา คือการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าลูกทำได้ก็ควรชื่นชม แต่ถ้าไม่เป็นดั่งหวัง ก็จะต้องยอมรับ และไม่ทุ่มความผิดหวังไปที่ลูก แล้วบอกลูกเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ "ทุกคนบนโลกนี้ ไม่มีใครที่ใช้ไม่ได้ แต่ทุกคนใช้ได้หมด แต่พ่อแม่ต้องมีดวงตาพิเศษ ที่สามารถมองเห็นแววของลูก เพราะแววคนขึ้นอยู่กับแววตา คงไม่มีลูกคนไหนหรอก ที่จะเกิดมาไร้ประโยชน์ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก พ่อแม่ต้องดูให้ดีว่า ลูกจะเรืองรองอะไรออกมา ฉะนั้นก่อนที่จะคาดหวังลูก พ่อแม่ต้องดูตัวลูกให้ดีก่อนว่า แววของเขา ส่อแสดงถึงแนวโน้มอะไรในอนาคต ถ้าพ่อแม่ส่งเสริมถูกทางก็จะสมหวัง แต่ถ้าส่งเสริมผิดทาง โอกาสที่จะผิดหวังย่อมเกิดได้สูง" ท่านว.วชิรเมธีให้หลักคิด | คิดบวก-พูดบวก ลูกไม่เสีย Self นอกจากความคาดหวังแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การใช้คำพูดกับการสอนลูก กับเรื่องนี้ 'ท่านว.วชิรเมธี ' ให้มุมมองว่า เรื่องทัศนคติเชิงบวก กับการใช้คำพูดทางบวก มีผลต่อลูกมาก ถ้าพ่อแม่ยิ่งตอกย้ำทัศนคติ และคำพูดด้านลบทุกวันๆ เด็กจะทำอะไรไม่เป็นเลย เปรียบได้กับผู้บริหารที่ตำหนิลูกน้องทุกวัน ย่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพของงานลดลงตามไปด้วย แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีใหม่ ลองใช้คำพูดให้กำลังใจเมื่อทำผิดพลาด ประสิทธิภาพของงานก็จะดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากคำพูดที่ดี จะช่วยเสริมให้เกิดกำลังใจ นำไปสู่ความเชื่อมั่นในที่สุด 3 ตัวแปร เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดี-มีสุข การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดี และมีความสุข เป็นเรื่องไม่ง่าย และก็ไม่ยาก ในประเด็นนี้ "ท่านว.วชิรเมธี" ได้ฝากหลักคิดเลี้ยงลูกให้ดี ไว้อย่างน่าสนใจว่า ตัวแปรในการเลี้ยงลูกหลักๆ แล้ว มีอยู่ด้วยกัน 3 อย่างคือ พ่อแม่ต้องมีความรู้ ความรัก และเวลา เมื่อ 3 สิ่งนี้มีให้เด็กอย่างสมดุล เด็กก็จะมีความสุข และเป็นเด็กที่น่ารักของพ่อแม่ และสังคมต่อไป เริ่มจาก 1. ความรู้ พ่อแม่ต้องมีความรู้ในการเลี้ยงลูก อย่าใช้สัญชาตญาณในการเลี้ยงลูก เพราะเด็กเป็นสิ่งที่ซับซ้อนที่สุดในโลก ทั้งความคิด และจิตวิญญาณ โดยเฉพาะพ่อแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวทุกคน ที่มักจะไม่มีเวลากับลูก จึงตอบสนองความต้องการของลูกด้วยการตามใจ เช่น ลูกอยากได้คอมพิวเตอร์ไว้เล่นที่บ้าน หรืออยากได้บัตรเครดิต ก็ทำให้ โดยคิดว่า นี่คือการชดเชยในสิ่งที่ลูกขาดหายไป วิธีคิดแบบนี้ จะทำให้ลูกเสียคน 2. ความรัก เมื่อพ่อแม่ให้ความรักกับลูก จะช่วยให้ลูกรักบ้าน เพราะคิดว่าได้รับการเติมเต็มที่พอแล้ว การออกไปเที่ยวเพื่อตามหาความรักนอกบ้านก็จะไม่มี 3. เวลา พ่อแม่บางคนให้ความรักแล้วแต่ไม่ให้เวลา ไม่มีการโอบกอด หรือกินข้าวด้วยกัน มีแต่ส่งข้อความ หรือโทรหาเมื่อคิดถึง ท้ายนี้ "ท่านว.วชิรเมธี" ได้ฝากแง่คิดไว้เป็นแนวทางให้กับพ่อแม่ยุคใหม่ทุกคนว่า "งานเลี้ยงลูกของบิดามารดาเปรียบเสมือนงานปั้นพระของศิลปิน ต้องทุ่มเททั้งชีวิต ผลสัมฤทธิ์จึงจะออกมาดั่งที่ปรารถนา หมายความว่า เป็นงานที่ต้องเลี้ยงกันด้วยความละเมียดละไม ใส่ใจทุกรายละเอียด ซึ่งศิลปินที่จะประสบความสำเร็จในการปั้นพระ เขาก็ต้องเรียนรู้ก่อน จากนั้นต้องมีจิตใจที่งดงามล้ำเลิศ พระที่ปั้นจึงจะงดงามจริงๆ ที่สำคัญ ต้องให้เวลากับงานปั้นจริงๆ เช่นกันกับพ่อแม่ การจะทำงานปั้นพระ (ลูกของเรา) ให้เป็นคนประเสริฐของโลก ก็ต้องมีความรู้ ใส่ใจ และละเมียดละไมมากพอ ซึ่งถ้าไม่มีในเรื่องดังกล่าวนี้ ลูกซึ่งเติบโตขึ้นจะกลายเป็นอนุเสาวรีย์ของพ่อแม่ที่ไม่สวยงาม และย้อนกลับมาประจานตัวเราตลอดไป"
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น